วันศุกร์ที่ 31 กรกฎาคม พ.ศ. 2558

เห็ดหอม (Shiitake Mushroom)

เห็ดหอมมีชื่อทางวิทยาศาสตร์ว่า Lentinus edodes ภาษาจีนเรียกว่า "เฮียงคุ่ง" หรือ "เฮียงสิ่ง" ส่วนญี่ปุ่นเรียกเห็ดหอมว่า ชิตาเกะ (Shi-ta-ke) ชาวเอเชีย เชื่อกันมาแต่โบราณแล้วว่าเห็นหอมเป็นยาอายุวัฒนะ ทำให้ร่างกายแข็งแรง ช่วยชะลอความชราได้  คนจีนและคนญี่ปุ่นจึงนิยมรับประทานกันมาก

          ย้อนไปในศตวรรษที่ 14 มีบันทึกไว้ว่าแพทย์จีนใช้เห็ดหอมปรุงเป็นยาอายุวัฒนะ ทำให้เลือดลมดี รักษาโรคหวัด โรคหัวใจ แก้พิษงู และต้านการเติบโตของเนื้อร้าย

          ต่อมาในค.ศ. 1970 มีงานวิจัยหลายชิ้นในญี่ปุ่นพบว่าเห็ดหอมมีกรดอะมิโนที่ชื่อว่า อิริตาดีนีน (eritadenine) ช่วยให้ไตย่อยโคเลสเตอรอลได้ดียิ่งขึ้น ทำให้ระดับโคเลสเตอรอลในเลือดลดลงได้อย่างน่าอัศจรรย์ และมีสารเลติแนน (lentinan) ที่ช่วยกระตุ้นการทำงานของเซลล์ระบบภูมิคุ้มกัน ให้มีประสิทธิภาพในการต่อสู้ยับยั้ง หรือป้องกันการเติบโตของเซลล์เนื้องอกต่าง ๆ ได้ดีอีกด้วย

          สอดคล้องกับที่สถาบันทางโภชนาการของญี่ปุ่น ได้ทำการทดลองในเรื่องนี้และพบว่า หญิงสาวที่ทานเห็ดหอมสด 90 กรัม ทุกวันเป็นเวลา 1 อาทิตย์จะทำให้โคเลสเตอรอลในเลือดลดลง 12% ถ้ารับประทานเป็นเห็ดหอมแห้ง 9 กรัมต่อวัน โคเลสเตอรอลลดลง 7% เมื่อทดลองกับคนอายุ 60 ปี พบว่าโคเลสเตอรอลลดลง 9% หลังจากทานเห็ดหอม 1 อาทิตย์

          ขณะที่นักวิจัยสมัยใหม่ซึ่งได้ทำการวิจัยเกี่ยวกับเห็ดหอม ก็พบว่าเห็ดหอมช่วยป้องกันโรคหลอดเลือดหัวใจตีบ ต้านโรคมะเร็งและโรคร้ายต่าง ๆ จากเชื้อไวรัส และจากการวิเคราะห์ของนักโภชนาการยังพบด้วยว่า เห็ดหอมมีสารเออร์โกสเทอรอล (Ergosterol) อยู่มาก โดยเมื่อร่างกายได้รับแสงอัลตร้าไวโอเลตหรือรังสียูวีจากดวงอาทิตย์ กลไกรังสียูวีจะไปเปลี่ยนสารเออร์โกสเทอรอลในผิวหนังให้เป็นวิตามินดี ซึ่งจะช่วยให้กระดูกและกล้ามเนื้อแข็งแรง ป้องกันโรคกระดูกผุ โรคโลหิตจางได้

          ส่วนที่สถาบันมะเร็งแห่งชาติของญี่ปุ่น ก็ได้ทำการวิจัยสารที่สกัดจากเห็ดหอม พบว่ามีสารที่สามารถต่อต้านเนื้องอกและมะเร็ง คือสารเลนติแนนที่มีเปอร์เซ็นต์การยังยั้ง 80.7% และยังพิสูจน์ว่า สารเลนติแนน เป็นตัวที่สามารถกระตุ้นให้ร่างกายเกิดภูมิต้านทานได้ดี ได้มีการทดลองนำเห็ดหอมมาสกัดพบว่าในเห็ดหอมให้น้ำตาลโมเลกุลขนาดใหญ่ (mega-sugar) ที่เรียกว่า เบต้ากลูแคนส์ (beta-glucans) ถึง 2 ชนิดได้แก่ เลนติแนน และ LEM (Lentinulaedodes mycelium) ซึ่งช่วยทำหน้าที่กระตุ้นระบบภูมิคุ้มกันต่อสู้กับการติดเชื้อ และชะลอการแพร่กระจายของเซลล์มะเร็ง ซึ่งในการทดลองให้สารเลนติแนนกับผู้ป่วยมะเร็งร่วมกับทำเคมีบำบัดก็พบว่า ก้อนมะเร็งมีขนาดลดลง และอาการข้างเคียงจากการทำเคมีบำบัดก็เกิดขึ้นน้อยลงด้วย

          ล่าสุดทีมวิจัยในญี่ปุ่นกำลังมองหาความเป็นไปได้ในการใช้ LEM ที่ได้จากเห็ดหอมมาบำบัดผู้ป่วยที่ติดเชื้อเอชไอวี (HIV) และยังพบอีกว่า สารสกัดจากเห็ดหอมอีกตัวหนึ่ง ชื่อ อิริตาดีนีน (eritatenine) เป็นตัวช่วยลดปริมาณไขมันในเลือดและระดับโคเลสเตอรอลให้กับร่างกาย

          นอกจากนี้ เห็ดหอมยังมีวิตามิน B2 (riboflavin) และวิตามิน D มากเป็นพิเศษ รวมทั้งแร่ธาตุอื่น ๆ ที่มีประโยชน์ต่อต่างกายอีกมากมาย

          โดยสรุปแล้วเห็ดหอมไม่เพียงแต่มีรสชาติหวานหอมชวนรับประทานเท่านั้น แต่ยังมีสรรพคุณมากมายในทางเป็นยารักษาและป้องกันโรคสารพัด ทั้งจากโรคต่าง ๆ ที่กล่าวมาแล้ว รวมถึงเป็นยาบำรุงกำลังชั้นเยี่ยม แก้อาการเหนื่อย อ่อนเพลีย บรรเทาอาการไข้หวัด ทำให้เลือดลมไหลเวียนดีขึ้น ช่วยให้ระบบย่อยอาหารทำงานได้ดี ไม่มีอาการท้องผูก บรรเทาอาการปวดเมื่อย ช่วยรักษาโรคหอบหืด ความดัน ไอ ลดความเครียด บำรุงสมอง ป้องกันหลอดเลือดแดงแข็งตัว บำรุงระบบประสาท ช่วยให้หลับง่าย บำรุงปอด และหลอดลม นอกจากนี้ ยังใช้บำบัดอาการวิงเวียนศีรษะในผู้หญิงได้ด้วย

          อย่างไรก็ตาม ยังมีข้อห้ามเล็กน้อยในเรื่องการรับประทานเห็ดหอม คือสตรีหลังคลอด ผู้ป่วยหลังฟื้นไข้ และคนที่เพิ่งหายจากการออกหัด ห้ามรับประทาน

          อ้อ..ผลการวิจัยทั้งหลายนั้นบอกด้วยว่า เห็ดหอมตากแห้งจะให้คุณค่าทางอาหารมากกว่าเห็ดหอมสด และเห็ดหอมแห้งที่ดี ควรมีดอกขนาดใหญ่แห้งสนิทบนดอกมีร่องแตกสีขาวดำ และขอบไม่แข็ง

เห็ดหอมทอดซีอิ๊ว .....

:: ส่วนผสมและเครื่องปรุง ::
- เห็ดหอมสด 200 กรัม
- ซีอิ๊วขาว 1/2 - 1 ชช.  ... (แล้วแต่ความเค็มของซีอิ๊วที่ใช้)
- ซอสปรุงรส 1/4 ชช.
- น้ำตาลทรายนิดหน่อย
- พริกไทยป่นนิดหน่อย
- น้ำมันพืชสำหรับทอด